ศัพย์สังคีต


เพลง คือทำนองที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยมีสัดส่วน มีจังหวะ วรรคตอนและสัมผัสถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของดุริยางค์ศิลป์ โดยใช้ถ้อยคำ เสียง สระ อักษรวรรณยุกต์ ตามกฎแห่งฉันทาลักษณ์
ทำนอง คือ เสียงสูง เสียงต่ำ สลับกัน จะมีความสั้นยาว เบาแรงอย่างไรก็แล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง
ร้อง คือการเปล่งเสียงออกไปให้เป็นทำนอง จะมีถ้อยคำหรือไม่มีก็ได้หรือมีแต่สระอะไรก็ได้ แต่ต้องถือทำนองเป็นสำคัญ ถ้อยคำต้องน้อมเข้าทำนอง
จังหวะ หมายถึงการแบ่งส่วนย่อยของทำนองเพลง ซึ่งดำเนินไปด้วยเวลาอันสม่ำเสมอ ทุกส่วนที่แบ่งนี้คือ จังหวะ จังหวะที่ใช้ในการดนตรีไทยแบ่งออกเป็น 3 อย่าง
1. จังหวะสามัญ จังหวะทั่วไปที่จะต้องยึดถือเป็นหลักสำคัญของการขับร้องและบรรเลง แม้จะไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องให้สัญญาณจังหวะก็ต้องมีความรู้สึกในใจตลอดเวลา
2 .จังหวะฉิ่ง เป็นการแบ่งจังหวะด้วยเสียงที่ตีฉิ่ง เพื่อให้รู้จังหวะเบา หรือ หนัก จังหวะฉิ่งเป็นจังหวะเบา จังหวะฉับเป็นจังหวะหนัก ส่วนจะตีถี่ห่างอย่างไรอยู่ที่ลักษณะเพลง
3. จังหวะหน้าทับ คือการถือหน้าทับเป็นเกณฑ์นับจังหวะ เมื่อหน้าทับตีจบไปเที่ยวหนึ่งก็นับเป็น 1 จังหวะ ตีจบสองเที่ยวเป็น 2 จังหวะ
ท่อน คือการกำหนดส่วนใหญ่ส่วนหนึ่ง ซึ่งแบ่งจากเพลง ปกติเมื่อบรรเลงเพลงใดก็ตาม หากจบท่อนหนึ่งๆแล้ว มักจะกลับต้นบรรเลงซ้ำท่อนนั้นอีกโดยจะเขียนว่า ซ้ำ , กลับต้น , กต. หรือใช้เครื่องหมาย //---- //
เถา คือเพลงเพลงเดียวกัน แต่มีอัตราลดหลั่นกันลงไป ตั้งแต่อัตราสามชั้น สองชั้น และชั้นเดียว ( จะไม่เรียก1ชั้น )
ตับ หมายถึงเพลงหลายเพลงนำมาร้องและบรรเลงในอัตราเดียวกัน ติดต่อกันไป ซึ่งแยกออกได้เป็น 2 ชนิด
1. ตับเรื่อง เพลงที่นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น มีบทร้องเรื่องเดียวกันและดำเนินไปโดยลำดับ ส่วนทำนองเพลงจะเป็นคนละอัตราคนละประเภท ถือว่าไม่สำคัญ
2. ตับเพลง คือเพลงที่นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกัน เป็นทำนองเพลงที่มีอัตราเดียวกัน เช่น 2 ชั้น 3 ชั้นส่วนบทร้องจะมีเนื้อร้องอย่างไร เรื่องเดียวกันหรือไม่ไม่สำคัญ
ทอด 1. การผ่อนจังหวะให้ช้าลง ก่อนที่จะจบเพลงหรือจบท่อน เพื่อให้คนร้อง
2. เพื่อจะหยุดให้มีการเจรจา การร้องนี้ต้องมีการเอื้อนเล็กน้อย

หน้าทับ การนับจังหวะด้วยการตีกลอง เพลงกลองเราเรียกว่า หน้าทับ เช่น เพลงลาว เพลงเขมร เพลงแขก จะเรียกว่า หน้าทับลาว หน้าทับเขมร หน้าทับแขก
ทาง มีความหมาย แยกเป็น 3 ประเภท
1. หมายถึง การดำเนินทำนองโดยเฉพาะเครื่องดนตรี เช่น ทางระนาด ทางฆ้อง ทางซอ
2. หมายถึง การดำเนินทำนองเพลงที่ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่นทางของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ทางของ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นต้น
3. หมายถึง ระดับเสียงของเพลงที่บรรเลง ซึ่งกำหนดชื่อเรียกเป็นที่รู้จักของนักดนตรีทุกคน
เพี้ยน คือที่ไม่ตรงกับระดับที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เสียงบรรเลงดนตรีชนิดใดก็ตาม ถ้าเสียงผิดจากระดับเสียงที่ถูกที่ควร สูงไป ต่ำไป เพียงเล็กน้อย ก็เรียกว่าเสียงเพี้ยน
หน้าพาทย์ หมายถึง เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาอาการของมนุษย์ สัตว์วัตถุหรือธรรมชาติ ทั้งกิริยาที่มีตัวตนหรือสมมุติ ตลอดกิริยาที่เป็นปัจจุบันหรืออดีต
ไหว หมายถึงการบรรเลงให้เสียงดนตรีหลายๆ เสียงที่ติดต่อกันเป็นระยะถี่และจังหวะเร็ว หากทำได้ถี่และเร็วมากก็เรียกว่าไหว
เอื้อน ใช้ในการขับร้อง หมายถึงการขับร้องที่มีทำนองโดยใช้เสียง ไม่มีถ้อยคำ สำหรับบรรจุทำนองเพลงให้ถูกต้องครบถ้วนในเมื่อบทร้องไม่พอกับทำนองเพลง และเพื่อตกแต่งให้ถ้อยคำชัดเจนยิ่งขึ้น
สะบัด หมายถึง การดำเนินทำนองที่มี 3 พยางค์ ติดต่อกัน มีระยะเวลาเท่ากับพยางค์เดียว
เขย่า เป็นวิธีบรรเลงอังกะลุงด้วยการเขย่าแทนการตี ลักษณะอาการเขย่านี้จะผลักอังกะลุงไปข้างหน้าประมาณ 3-5 นิ้ว และดึงกลับไปกลับมาในระยะเดียวกัน ปฏิบัติอย่างนี้เร็ว ๆ ยิ่งเร็วเท่าไรเสียงยิ่งละเอียดและดัง แรงขึ้น
กรอ หมายถึงวิธีบรรเลงดนตรีประเภทตี เป็นคู่แปดหรือคู่สี่ มือซ้ายและมือขวาบรรเลงสลับกันถี่ ๆหากเป็นอังกะลุง การกรอจะมีลักษะเช่นเดียวกับการเขย่า
ลัก หรือลักจังหวะ หมายถึงการร้องหรือบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี ซึ่งดำเนินไปโดยไม่ตรงกับจังหวะเป็นการกระทำโดยเจตนา เพื่อให้เกิดความไพเราะ หรือเร้าอารมณ์ไปอีกทางหนึ่ง
ลูกล้อ เป็นการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น 2 พวก พวกหน้า ( บรรเลงก่อน ) พวกหลัง ( บรรเลงทีหลัง ) 2พวกนี้บรรเลงผลัดกันคนละที ล้อ หมายถึง พวกหน้าบรรเลงอย่างใด พวกหลังบรรเลงอย่างนั้น
ลูกขัด เป็นการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น 2 พวก พวกหน้าบรรเลงอย่างหนึ่ง พวกหลังบรรเลงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำนองไม่เหมือนกับพวกหน้า
ลูกบท ได้แก่เพลงเล็ก ๆ ที่นำมาบรรเลงต่อจากเพลงใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแม่บท เพลงเล็ก ๆ เรียกว่า ลูกบท
ลูกหมด เป็นชื่อเพลงประเภทหนึ่ง เป็นเพลงสั้น ๆ มีจังหวะเร็ว สำหรับบรรเลงต่อท้ายเพลงต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าจบเพลง
ส่ง แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
1. เป็นการบรรเลงนำทางให้คนร้องต่อไปได้สะดวกและถูกต้อง หรือเรียกว่า ส่งหางเสียง
2. เป็นการร้องที่มีดนตรีรับ เรียกว่า ส่ง เหมือนกัน แต่เราเรียกว่าร้องส่ง
สวม การบรรเลงดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือเครื่องดนตรีทั้งหมด บรรเลงเหลื่อมล้ำเข้ามาในตอนท้ายก่อนของผู้อื่น
สอด เป็นการบรรเลงเพลงชนิดหนึ่งที่แทรกเข้ามาในระหว่างมีการร้องหรือเครื่องดนตรีอย่างอื่นหยุด
สำเนียง หมายถึงกระแสของทำนองเพลงที่ประดิษฐ์ขึ้น กระทำให้เกิดความรู้สึกและทราบไดว่าเป็นเพลงจำพวกใด ชนิดใด และภาษาใด
ขับร้อง การเปล่งเสียงที่มีลำนำ ทำนอง โดยอาศัยบทกวี เป็นบทเปล่งเสียงซึ่งเป็นศิลปะที่ประณีตขึ้นกว่าคำพูดธรรมดา แยกเป็น 2 ประเภท คือการขับ การร้อง
1. ขับ การเปล่งเสียงไปตามบทกวี โดยยึดลำนำเป็นสำคัญ เสียงสูง-ต่ำอนุโลมไปกับเสียงแห่งถ้อยคำนั้นๆ ส่วนจังหวะก็มาแน่นอน
2. ร้อง การเปล่งเสียงที่มีลำนำ ทำนอง และจังหวะดำเนินเสียงสูง-ต่ำโดยยึดเนื้อทำนองของเพลงเป็นสำคัญ เสียงสูง-ต่ำอนุโลม ตามทำนองเพลงนั้นๆ ส่วนความสั้น-ยาวต้องอยู่ในบังคับของเพลง เสียงร้องดนตรีจะดำเนินทำนองตามโดยสมบูรณ์
เพลงไทยที่ใช้ขับร้องและบรรเลงอยู่ในปัจจุบันมีอยู่มากมาย มีทั้งเพลงเก่าสมัยโบราณ เพลงที่ดัดแปลงจากของเก่าและเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ สามารถแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะและวิธีใช้ได้หลายประเภท ดังนี้
๑. เพลงชั้นเดียว
๒. เพลงสองชั้น
๓. เพลงสามชั้น
๔. เพลงเถ
๕. เพลงตับ
๖. เพลงเกร็ด
๗. เพลงใหญ่
๘. เพลงละคร
๙. เพลงเดียว
๑๐. เพลงหมู่
๑๑ เพลงลา
๑๒ เพลงเรื่อง
๑๓ เพลงหางเครื่อง
๑๔. เพลงลูกหมด
๑๕. เพลงภาษาและการออกภาษา
๑๖. เพลงโหมโรง
๑๗. เพลงหน้าพาทย์
๑. เพลงชั้นเดียว
คำว่า “ ชั้นเดียว “ เป็นชื่ออัตราจังหวะชนิดหนึ่งที่ดำเนินลีลาไปด้วยประโยคสั้น ๆ และรวดเร็ว ดังนั้นเพลงชั้นเดียวจึงหมายถึงเพลงที่มีจังหวะเร็ว หรือที่เรียนกันโดยทั่วไปว่าเพลงเร็ว การที่จะเข้าใจว่า เพลงชั้นเดียวเป็นอย่างไร วิธีง่าย ๆ ก็โดยสังเกตเสียงฉิ่ง ซึ่งตามปกติแล้ว การตีฉิ่งจะเริ่ม เสียงฉิ่งและจบด้วยเสียงฉับ ถ้าช่วงเสียงฉิ่ง ฉับเร็วกระชับติดกันก็แสดงว่าเป็นเพลงชั้นเดียว หรือสังเกตได้จากทำนองร้อง ถ้าเอื้อนร้องน้อย บางเพลงอาจไม่มีร้องเอื้อนเลย ก็เป็นเพลงชั้นเดียว
๒ . เพลงสองชั้น
คำว่า “ สองชั้น “ เป็นชื่ออัตราจังหวะที่ดำเนินลีลาปานกลาง ไม่ช้าและเร็วเกินไป เพลงสองชั้นจึงเพลงจังหวะปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นเพลงสั้น ๆ ที่ร้องและจำทำนองง่าย ถ้าจะเทียบกับเพลงชั้นเดียว เพลงสองชั้นจะ มีความยาวมากกว่าเพลงชั้นเดียวหนึ่งเท่าตัว โดยสังเกตเสียงฉิ่ง และฉับห่างกันปานกลาง ไม่เร็วและช้าจนเกินไป มีทำนองร้องที่มีเอื้อนไม่มากไม่น้อย ทางดนตรีไทยมักนิยมนำเพลงเร็วมาขยายขึ้นอีกเท่าตัวเป็นเพลงสองชั้น เพื่อใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่าง ๆ
๓. เพลงสามชั้น
คำว่า “ สามชั้น “ เป็นชื่ออัตราจังหวะที่ดำเนินลีลาไปด้วยประโยคขนาดยาวและเชื่องช้า เพลงสามชั้นจึงเพลงที่มีจังหวะช้า ต้องใช้เวลาบรรเลงและขับร้องนานกว่าเพลงในอัตราอื่น ๆ ถ้าสังเกตเสียงฉิ่ง จะเห็นว่า ช่วงระหว่างเสียงฉิ่งและฉับห่างกันมาก มีทำนองร้อง จะมีการร้องเอื้อนยาว ๆ ทางดนตรีไทยได้นำเพลงสองชั้นมาขยายออกไปอีกหนึ่งเท่าตัว เพลงสามชั้นนิยมใช้ขับร้องและบรรเลงในโอกาสทั่วไป
๔. เพลงเถา
เพลงเถา เป็นเพลงขนาดยาว เกิดขึ้นจากการนำเอาเพลงหนึ่งเพลงใดมาบรรเลงติดต่อกัน ในอัตราลดหลั่นกันไปตามลำดับ ทั้ง ๓ อัตรา ฉะนั้นเพลงเถา จึงประกอบด้วย อัตรา สามชั้น สองชั้น ชั้นเดียว ตามลำดับ เพื่อนำมาบรรเลงให้ครบเป็นเพลงเถา เพลงเถานิยมใช้บรรเลงและขับร้อง ในลักษณะเพลงรับร้อง คือเมื่อร้องจบท่อน ดนตรีก็บรรเลงรับละปฏิบัติเช่นนี้ตลอดทุกอัตรา ไม่นิยมนำเพลงเถามาร้องให้ดนตรีบรรเลงคลอหรือบรรเลงลำลองแต่อย่างใด
๕. เพลงตับ
คำว่า ตับ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า ของที่เรียงกันเป็นแถว ๆ เพลงตับเป็นการนำเอาเพลงหลาย ๆ เพลงมาร้องและบรรเลงติดต่อกันเป็นชุด เพลงที่บรรจุใหม่ในตับหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่เป็นเพลงในอัตราสองชั้น ส่วนที่เป็นสามชั้นก็มีบ้างแต่ไม่ได้รับความนิยม เพลงตับอาจมีเพลงมากน้อยต่างกัน เพลงตับแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๕.๑ ตับเรื่อง หมายถึงเพลงที่นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกัน มีบทร้องเป็นเรื่องเดียวกัน และดำเนินไปตามลำดับ ฟังแล้วรู้เรื่องตลอดทั้งเพลง ส่วนทำนองเพลงจะเป็น คนละอัตรา คนละประเภท ถือว่าไม่สำคัญ ตับเรื่องเป็นการร้องเพื่อใช้ประกอบโขนและละคร เป็นชุด เป็นตอน
๕.๒ ตับเพลง หมายถึงเพลงที่นำมาร้องและบรรเลง จะต้องมีสำนวนทำนองสอดคล้องกัน คือ มีเสียงขึ้นต้นคล้ายกัน มีสำเนียงคล้ายกัน เป็นเพลงในอัตราจังหวะเดียวกัน เช่น สองชั้นก็สองชั้นเหมือนกัน สามชั้นก็สามชั้นเหมือนกัน ส่วนเนื้อร้อง เรื่องเดียวกันหรือไม่ ไม่สำคัญ
๖. เพลงเกร็ด
เป็นเพลงขนาดย่อม นำมาร้องและบรรเลงเป็นเพลง ๆ ไปอาจเป็นอัตราจังหวะใดจังหวะหนึ่งในชุดของเพลงเถา หรือเพลงใดเพลงหนึ่งในเพลงตับ เพลงเกร็ดที่ขับร้องและบรรเลงโดยทั่วไป มักมีบทร้องที่มีความหมาย มีคติมีความซาบซึ่งประทับใจและมีท่วงทำนองมี่มีความ ไพเราะเป็นพิเศษ
๗. เพลงใหญ่
เป็นเพลงสามชั้นขนาดยาว มีการร้องเอื้อนมากและสลับซับซ้อน หลายชั้นหลายเชิง ยิ่งกว่าเพลงสามชั้นใด ๆ การบรรเลงค่อนข้างยาก ยึดยาว ต้องใช้เวลาในการบรรเลงนานมากกว่าจะจบเพลง เนื่องจากผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกเทคนิคและวิธีการบรรเลงไว้มากมาย สำหรับใช้ขับร้องและบรรเลงเพื่อเป็นการอวดฝีมือของผู้บรรเลง การสังเกตเกี่ยวกับเพลงนี้ คือ มีทางร้องสั้นแต่ทางบรรเลงยาวมาก
๘. เพลงละคร
หมายถึงเพลงที่ใช้ขับรองและบรรเลงในการแสดงโขน ละคร และมหรสพต่าง ๆ มีทั้งร้องแล้วดนตรีรับ ทั้งร้องคลอดนตรีรับ เคล้า และลำลอง ขึ้นอยู่กับลักษณะการแสดงนั้น ๆ เพลงแบบนี้ไดแก่เพลงอัตราสองชั้น หรือเพลงในอัตราชั้นเดียว เพลงที่ใช้ร้องประกอบละครหรือมหรสพอื่น ๆ จะต้องใช้ให้ถูกต้องตามอารมณ์ของตัวละคร
๙. เพลงหมู่
หมายถึงเพลงที่เครื่องดนตรีทุกเครื่องบรรเลงพร้อม ๆ กันเป็นหมู่ หรือเป็นวง การบรรเลงลักษณะจะต้องยึดถือความพร้อมเพียงเป็นหลัก มีจังหวะช้า เร็วอย่างเดียวกัน ทุกคนบรรเลงตามหน้าที่ของตนให้สอดคล้องกัน เช่น การบรรเลงวงปีพาทย์ วงเครื่องสาย วงมโหรี เป็นต้น
๑๐. เพลงเดียว
หมายถึง เพลงที่แต่งขึ้นมาเป็นทางพิเศษ สำหรับบรรเลงเฉพาะเครื่องดนตรี เพื่อเป็นการแสดงภูมิปัญญาประดิษฐ์ทางดนตรีให้เหมาะสมกับชนิดดนตรีและแสดงไหวพริบ ปฏิภาณ ฝีมือ ความแม่นยำของผู้บรรเลงด้วย เพลงเดียวเป็นบรรเลงที่มีคุณค่า เป็นการบรรเลงในระดับสูง ดังนั้น การบรรเลงเพลงเดียวจึงใช้ในโอกาสพิเศษจริง ๆ เช่น บรรเลงเมื่อมีนักดนตรีฟังหรือผู้ฟังสนใจการฟังจริง ๆ หรือบรรเลงเมื่อมีการประชัน ตามปกติประเพณีการประชันวงนั้น หลังจากที่ได้บรรเลงขับร้องเพื่อแสดงความสามารถในการบรรเลงรวมวงแล้ว ก็จะเป็นการแสดงฝีมือของผู้บรรเลงเครื่องมือต่าง ๆ เป็นรายบุคคล
๑๑. เพลงลา
หมายถึงเพลงที่ผู้ขับร้องและบรรเลงเป็นอันดับสุดท้ายก่อนที่การแสดงจะจบลง ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนของการแสดงดนตรีไทยที่ได้กำหนดไว้ เช่นเพลงแรกบรรเลง โหมโรง และเพลงสุดท้ายต้องบรรเลงเพลง ลา เพื่อเป็นการให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานหรือผู้ชมผู้ฟัง ลักษณะของเพลงลาส่วนใหญ่ เนื้อร้องนอกจากจะมีความหมายในทางร่ำลา อาลัย อาวรณ์ ให้ศีล ให้พรแล้ว มักจะมี สร้อย คือมีการร้องว่า “ ดอกเอ๋ย เจ้าดอก “ ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของเพลงลา แสดงความอาลัย ความประทับใจ ไม่อยากจากไป เพลงประเภทนี้มีอยู่ไม่มากนักที่นิยมใช้บรรเลงกัน
๑๒. เพลงเรื่อง
คือเพลงที่ผู้ประดิษฐ์ขึ้น โดยนำเอาเพลงที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหลาย ๆ เพลงมาบรรเลงติดต่อกันเป็นชุด เป็นเรื่อง เพื่อความสะดวกในการบรรเลงในโอกาสต่าง ๆ เช่น เพลงเรื่อง เพลงนางหงส์ ใช้บรรเลงประกอบพิธีศพ เพลงเรื่อง เพลงฉิ่งพระฉัน ใช้ประกอบพระฉันภัตตาหาร นอกจากนั้นยังรวบรวมเพลงที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันไว้ด้วยกัน เพื่อสะดวกในการจดจำ และเพื่อให้ลูกศิษย์ที่เรียนดนตรี ใช้ฝึกหัดบรรเลงอีกด้วย แต่ละเรื่องนำมาเรียบเรียงเป็นชุด จะมีจำนวนเพลงมากน้อยบ้างแตกต่างกันไป มักจะนิยมบรรเลงโดยเฉพาะดนตรีไม่มีร้อง
๑๓. เพลงหางเครื่อง
คือ เพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ ที่บรรเลงต่อจากเพลงแม่บท ( เพลงเถาหรือเพลงสามชั้น ) โดยทันทีทันใดหลังจากที่บรรเลงเพลงนั้นจบลง ครั้งเรียกว่า เพลงลูกบท เพลงหางเครื่องเป็นเพลงในอัตราสองชั้นหรือชั้นเดียว ที่มีท่วงทำนองค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง ให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เป็นเพลงที่มีสำเนียงคล้ายกับเพลงแม่บทที่นำมาบรรเลงก่อน นิยมบรรเลงเฉพาะดนตรีอย่างเดียว ไม่มีร้อง
๑๔. เพลงลูกหมด
เป็นเพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ มีจังหวะเร็ว เทียบเท่าเพลงชั้นเดียว สำหรับบรรเลงต่อท้ายเพลงต่าง ๆเพื่อแสดงว่า จบเพลง หรือเรียกกันว่า ออกลูกหมด การบรรเลงเพลงลูกหมดนอกจากจะมีความหมายว่า เพลงได้จบลงแล้ว ยังเป็นการให้เสียงคนร้อง ช่วยให้คนร้องร้องได้ตรงกับระดับเสียงของวงดนตรีที่บรรเลง เพลงลูกหมดจะใช้บรรเลงต่อจากเพลงสามชั้น เพลงเถาและเพลงหางเครื่องแล้วแต่กรณี ไม่มีร้อง
๑๕. เพลงภาษาและออกภาษา
หมายถึง เพลงไทยที่มีชื่อเป็นชาติอื่น ๆ เช่น เพลงจีนเข็มเล็ก เพลงเขมรพายเรือ เพลงมอญรำดาบ เพลงพม่ารำขวาน เพลงแขกยิงนก เพลงฝรั่งรำเท้า เป็นต้น เพลออกภาษานักดนตรีได้แต่งขึ้นเอง โดยเลียนสำเนียงภาษาต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเพลงอัตราสองชั้น คล้ายเพลงหางเครื่อง เพลออกภาษาที่บรรเลงติดต่อกันหลาย ๆ ภาษา เรียกกันว่า “ ออกสิบสองภาษา” การบรรเลงออกภาษาที่นิยมใช้บรรเลงกันอยู่โดยทั่วไป มีหลักว่า ต้องออก ๔ ภาษาแรก คือ จีน เขมร มอญ พม่า เสียก่อนแล้วจึงออกภาษาอื่น ๆ ต่อไป การบรรเลงเพลงออกภาษาเป็นที่นิยมกันมาก บางที่บรรเลงเพลงสามชั้นสำเนียงแขกก็ออกภาษาแขกต่อท้าย บางทีนำมาต่อท้าย ๒-๓ เพลง ติดต่อกัน เพลงออกภาษาที่ใช้การบรรเลงมาแต่ดังเดิม จะใช้บรรเลงเฉพาะดนตรีล้วน ๆ ไม่มีร้อง แต่ในปัจจุบัน ได้นำเอาเนื้อร้อง เข้ามาประกอบเพลงออกภาษาด้วย เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชมและผู้ฟัง อีกแบบหนึ่ง
๑๖. เพลงโหมโรง
หมายถึงเพลงที่บรรเลงในอันดับแรก สำหรับงานต่าง ๆ วัตถุประสงค์ในการบรรเลงเพลงโหมโรง อาจกล่าวโดยรวมได้เป็น ๒ ประการด้วยกัน ประการแรก เพื่อประกาศให้รู้ว่า ขณะนี้งานดังกล่าวกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว ประการที่สอง เป็นการบรรเลงเพื่อความเคารพสักการะ ครู-อาจารย์ และอัญเชิญเทพยดามายังสถานที่มงคลพิธีด้วย เพลงโหมโรงแบ่งออกเป็นหลายลักษณะ ดังนี้
๑๖.๑ เพลงโหมโรงเช้า ใช้บรรเลงในงานมงคลพิธีต่าง ๆ ซึ่งจะมีขึ้นในตอนเช้า เช่น งานที่ชาวบ้านรู้กันเป็นสามัญว่า งานสวดมนต์เย็นฉันเช้า เพลงที่บรรเลงมีดังนี้

๑. สาธุการ ๒. เหาะ
๓. รัว ๔. กลม
๕. ชำนาญ
๑๖.๒ เพลงโหมโรงกลางวัน เป็นเพลงโหมโรงที่เกิดขึ้นจากประเพณีการแสดงมหรสพ ถ้าเป็นการแสดงเวลากลางวัน จะเริ่มแสดงตั้งแต่เช้า เมื่อถึงเวลากลางวันจะหยุดพัก เพื่อให้ตัวละคร นักดนตรี ผู้มาร่วมงานพักรับประทานอาหาร พอตอนบ่าย นักดนตรี ตัวละคร ก็เริ่มบรรเลงและแสดงละครต่อ ประกอบด้วยเพลง ดังนี้
๑. เพลง กราวใน ๘. เพลงปลูกต้นไม้
๒. เพลงเชิด ๙. เพลงชายเรือ
๓. เพลงชุบ ๑๐. เพลงรุกรัน
๔. เพลง ลา ๑๑. เพลง แผละ
๕. เพลงตระบองกัน ๑๒. เพลง เหาะ
๖. เพลง เสมอข้ามสมุทร ๑๓. เพลงโล้
๗. เพลง เชิดฉาน ๑๔. เพลงวา
๑๖.๓ เพลงโหมโรงเย็น เป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในตอนเย็นของงาน ในการเริ่มงานมงคลต่าง ๆ เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วยเพลงตามลำดับ ดังนี้
๑. สาธุการ ๘. เสมอ
๒. ตระโหมโรง ๙. รัว
๓. รัวสามลา ๑๐. เชิด
๔. ต้นชุบ ๑๑. กลม
๕. เข้าม่าน ๑๒. ชำนาญ
๖. ปฐม ๑๓. กราวใน
๗. ลา ๑๔. ต้นชุบ
๑๖.๔ เพลงโหมโรงเสภา เป็นโหมโรงอีกแบบหนึ่ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ที่ทีการนำเอาปีพาทย์มาบรรเลงประกอบกับการขับเสภา ก่อนการแสดงละคร ปีพาทย์จะบรรเลงหน้าพาทย์ชุดต่าง ๆจนถึงเพลงวา ต่อมาเพื่อไม่ให้เสียเวลามาก เมื่อบรรเลงเพลงวา เพลงเดียว เปลี่ยนมาใช้เพลงที่มีอัตราสองชั้นและสามชั้นตามความนิยม ในปัจจุบัน การบรรเลงวงปีพาทย์วงเครื่องสาย วงมโหรี ก็นำการโหมโรงเสภานี้มาใช้ เริ่มเพลงโหมโรง จบด้วยเพลงวา และนิยมใช้บรรเลงกันอย่างแพร่หลาย
๑๗. เพลงหน้าพาทย์
หมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาและพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวละคร เช่น เพลงโอดสำหรับการร้องไห้ เสียง เพลงกราวรำสำหรับเยาะเย้ยสนุกสนาน เพลงเชิดฉานสำหรับพระรามตามกวาง เพลงแผละสำหรับครุฑบิน เพลคุกพาทย์สำหรับ ทศกัณฐ์แสดงอิทธิฤทธิ์ความโหดร้าย หรือสำหรับหนุมานแผลงฤทธิ์ หาวเป็นดาวเป็นเดือน เป็นต้น นอกจากนั้นยังหมายถึงเพลงที่ประกอบกิริยา สมมุติที่แลไม่เห็นตัวตน เช่น เพลงสาธุการ เพลงตระเชิญ เพลตระนิมิต เพลตระบองกัน สำหรับเชิญเทพยดา ให้เสด็จมา แต่ไม่มีไครมองเห็นการเสด็จมาของเทพยดาในเวลานั้น และยังเป็นเพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาที่เป็นอดีตไม่ใช้ปัจจุบัน เช่นเมื่อพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีจบลง ปีพาทย์จะบรรเลงเพลงทยอยโอด คือบรรเลงเพลงโอดกับเพลงทยอยสลับกัน เพื่อประกอบกิริยาคร่ำครวญ โศกเศร้า เสียใจของนางมัทรี จึงถือว่าเป็นเพลงประกอบกิริยาสมมุติที่เป็นอดีต เป็นต้น เพลงหน้าพาทย์นิยมบรรเลงอย่างเดียว ไม่มีการขับร้อง เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
๑๗.๑ เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาและพฤติกรรมของตัวละคร แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
๑. เพลงเสมอ ใช้ประกอบกิริยาไปมาในระยะใกล้ ๆ
๒. เพลงฉิ่ง ใช้ประกอบกิริยาแบบกรีดกราย เช่น ชมสวน
๓. เพลงเชิด ใช้ประกอบกิริยาไปมาในระยะไกลอย่างรีบร้อน
๔. เพลงโคมเวียน ใช้ประกอบกิริยาไปมาในระยะไกลของเทวดาและนางฟ้า
๕. เพลงเหาะ ใช้เหมือนเพลงโคมเวียน
๖. เพลงชุบ ใช้ประกอบกิริยาไปมาของนางกำนัล
๗. เพลงแผละ ใช้ประกอบกิริยาไปมาของสัตว์ปีก เช่น ครุฑ
๘. เพลงกลม ใช้ประกอบกิริยาไปมาของพระอินทร์
๙. เพลงเข้าม่าน ใช้ประกอบกิริยาเดินเข้าไปในห้อง
๑๗.๒ เพลงหน้าพาทย์ประกอบการยกทัพ – ยกพล ได้แก่
๑. เพลงกราวนอก สำหรับการยกทัพของมนุษย์และลิง
๒. เพลงกราวใน สำหรับการยกทัพของยักษ์
๑๗.๓ เพลงหน้าพาทย์ประกอบอารมณ์สนุกสนาน ร่าเริง
๑. เพลงกราวรำ สำหรับกิริยาเยาะเย้ย สนุกสนาน
๒. เพลงสีนวล สำหรับกิริยารื่นเริง
๓. เพลงฉุยฉาย สำหรับแสดงความภาคภูมิใจที่ได้แต่งตัวใหม่
๔. เพลงแม่ศรี เหมือนเพลงฉุยฉาย
๕. เพลงช้า เพลงเร็ว สำหรับกิริยารื่นเริงเบิกบาน
๑๗.๔ เพลงหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอิทธิฤทธิ์ ได้แก่
๑. เพลงตระนิมิต สำหรับแปลงกาย
๒. เพลงตระสันนิบาต เหมือนเพลงตระนิมิต
๓. เพลงชำนาญ เหมือนเพลงตระนิมิต
๔. เพลงตระบองกัน เหมือนเพลงตระนิมิต
๕. เพลงคุกพาทย์ สำหรับการแสดงอิทธิฤทธิ์
๖. เพลงรัว สำหรับการแสดงเดชทั่ว ๆ ไป
๑๗. ๕ เพลงหน้าพาทย์ประกอบการต่อสู้ ไล่ ติดตาม ได้แก่
๑. เพลงเชิด สำหรับการต่อสู้ทั่วไป
๒. เพลงเชิดนอก สำหรับการไล่ติดตามของตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์
๓. เพลงเชิดฉิ่ง สำหรับประกอบการรำก่อนที่จะทำกิจสำคัญ เช่น ก่อน
ตอนแผลงศร
๔. เพลงเชิดฉาน สำหรับตัวละครที่เป็นมนุษย์ไล่ตามสัตว์ เช่น พระราม
ตามกวาง
๑๗.๖ เพลงหน้าพาทย์สำหับการนอน
๑. เพลงตระนอน สำหรับกิริยาหลับนอน
๑๗.๗ เพลงหน้าพาทย์สำหรับเชิญเทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มองไม่เห็นตัวตน เช่นพิธีการไหว้ครูและครอบครูดนตรีนาฏศิลป์ เป็นต้น มีเพลงดังนี้
๑. เพลงสาธุการ ๙. เพลงเสมอ
๒. เพลงเชิด ๑๐. เพลงรัวสามลา
๓. เพลงตระเชิญ ๑๑. เพลงลงสรงทรงเครื่อง
๔. เพลงเหาะ ๑๒. เพลงรำดาบ
๕. เพลงตระปรคนธรรพ ๑๓. เพลงเซ่นเหล้า
๖. เพลงช้า ๑๔. เพลงตระสันนิบา
๗. เพลงเร็ว ๑๕. เพลงกราวรำ
๘. เพลงแผละ ๑๖. เพลงเชิดกลอง
๑๗.๘ เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาที่เป็นอดีต ไม่ใช้ปัจจุบัน เช่น การบรรเลงเพลงประจำกัณฑ์เทศน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเรียบเรียงขึ้นไว้ เพื่อใช้บรรเลงเมื่อเวลาพระเทศน์จบในแต่ละกัณฑ์ ซึ่งยึดถือเป็นแบบแผนมาตั้งแต่โบราณ ดังนี้
๑. จบกัณฑ์ทศพร บรรเลงเพลงสาธุการ
๒. จบกัณฑ์หิมพานต์ บรรเลงเพลงตวงพระธาตุ
๓. จบกัณฑ์ทานกัณฑ์ บรรเลงเพลงพญาโศก
๔. จบกัณฑ์วนปเวสน์ บรรเลงเพลงพญาเดิน
๕. จบกัณฑ์ชูชก บรรเลงเพลงเซ่นเหล้า
๖. จบกัณฑ์จุลพน บรรเลงเพลงรัวสามลา
๗. จบกัณฑ์มหาพน บรรเลงเพลงเชิดกลอง
๘. จบกัณฑ์กุมาร บรรเลงเพลงเชิดฉิ่ง
๙. จบกัณฑ์มัทรี บรรเลงทยอยโอด
๑๐. จบกัณฑ์สักกบรรพ บรรเลงเพลงเหาะ
๑๑. จบกัณฑ์มหาราช บรรเลงเพลงกราวนอก
๑๒.จบกัณฑ์ฉกษัตริย์ บรรเลงเพลงตระนอน
๑๓. จบกัณฑ์นครกัณฑ์ บรรเลงเพลงทะแย กลองโยน

2 ความคิดเห็น: